เรื่องใกล้ตัวที่หลายคนไม่สนใจ หรือสนใจ แต่ไม่เข้าใจ และเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้บริโภคทุกคนควรรู้เรามาทำความรู้จัก กับ อย. กันเถอะ !
“อย.” คือ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบและดูแลผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลต่อสุขภาพและร่างกาย โดยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดที่ต้องการจำหน่ายในประเทศไทยจำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยจาก อย.ก่อน
อย. คอยคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์อาหาร
- ยา
- เครื่องสำอาง
- เครื่องมือแพทย์
- วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน
ทั้งนี้ อาจสรุปโดยคร่าว ๆ ได้ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีหน้าที่ในการดูแลผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะ ทั้งในเชิงคุณภาพ เชิงพาณิชย์ และเชิงบริโภค โดยเริ่มตั้งแต่ผลิต นำเข้า จัดจำหน่าย ไปจนถึงหลังการใช้และการบริโภครวมไปถึงการส่งเสริมข้อมูลที่ถูกต้องถูกตามหลักวิชาการมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมและปลอดภัยแบบมีสุขภาพดี
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเครื่องหมาย อย. จะรับประกันคุณภาพสินค้าตามคำโฆษณาของผลิตภัณฑ์ เครื่องหมาย อย. แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้มีการขึ้นทะเบียนหรือรับอนุญาตเลขสารบบอาหารถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
ประโยชน์ของเครื่องหมาย อย.
- กรณีเกิดอันตรายจากการใช้งานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครอง และสามารถเรียกร้องให้ดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจสอบ และได้รับ สัญลักษณ์ อย. ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อยู่ภายใต้การกำกับดูแล และตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ก่อนออกสู่ตลาด
- ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในสารบบของ อย. จะมีการตรวจสอบ และเฝ้าระวังปัญหา หรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น จะมีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาด เมื่อมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อีกด้วย
- เป็นการส่งเสริมการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และเครือข่าย
ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างจะมีเครื่องหมาย อย.
หลายคนพอทราบว่า เครื่องหมาย อย. รับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ได้ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัย ก็ด่วนสรุปเองว่าผลิตภัณฑ์บางอย่างที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. ไม่ปลอดภัย จริงๆ แล้วกฎหมายระบุไว้ว่า มีผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่ต้องขึ้นทะเบียน อย. และผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่ไม่ต้องมี อย.
ผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีเครื่องหมาย อย.
1. อาหารแบ่งเป็น 3 กลุ่มอาหารที่ต้องมีเครื่องหมาย อย. คือ
- อาหารควบคุมเฉพาะ เช่น เครื่องดื่ม อาหารบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท
- อาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน เช่น น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุปิดสนิท ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำมันพืช อาหารกึ่งสำเร็จรูป
- อาหารที่ต้องมีฉลาก เช่น ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ หมากฝรั่งลูกอม อาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที อาหารพร้อมปรุง
เลขลำดับที่ 1 – 2 : เลขจังหวัดที่ตั้งของสถานที่ผลิต (ใช้ตัวเลข 10 – 96 แทนจังหวัดนั้น ๆ) เช่น ตัวเลข 10 แทนจังหวัดกรุงเทพฯ ตัวเลข 74 แทนจังหวัดสมุทรสาคร
เลขลำดับที่ 3 : สถานะของสถานที่และหน่วยงานที่อนุญาต (ใช้ตัวเลข 1 – 4 แทนสถานะ)
หมายเลข 1 หมายถึง สถานที่ผลิตอาหาร ซึ่งสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้อนุญาต
หมายเลข 2 หมายถึง สถานที่ผลิตอาหาร ซึ่งจังหวัดเป็นผู้อนุญาต
หมายเลข 3 หมายถึง สถานที่นําเข้าอาหาร ซึ่งสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้อนุญาต
หมายเลข 4 หมายถึง สถานที่นําเข้าอาหาร ซึ่งจังหวัดเป็นผู้อนุญาต
เลขลำดับที่ 4 – 6 : เลขประจำสถานที่ผลิต กำหนดแล้วแต่กรณี (ใช้ตัวเลขสามหลัก) เช่น 002 แทนเลขสถานที่ผลิตอาหารหรือสถานที่นําเข้าอาหาร ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นลำดับที่ 2
เลขลำดับที่ 7 – 8 : เลขท้ายของปี พ.ศ.ที่อนุญาต เช่น ตัวเลข 64 แทน พ.ศ.2564
เลขลำดับที่ 9 : หน่วยงานที่อนุญาตผลิตภัณฑ์ หรือหน่วยงานที่ออกเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ (ใช้ตัวเลข 1 – 2 แทนหน่วยงาน)
หมายเลข 1 หมายถึง อาหารที่ได้รับเลขสารบบอาหารจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา
หมายเลข 2 หมายถึง อาหารที่ได้รับเลขสารบบอาหารจากจังหวัด
เลขลำดับที่ 10 – 13 : เลขลำดับที่ของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการอนุญาต (ใช้ตัวเลขสี่หลักแทนลำดับ) เช่น ตัวเลข 0001 แทนลำดับที่ 1 , ตัวเลข 0999 แทนลำดับที่ 999
2. เครื่องมือแพทย์ที่ต้องมีใบอนุญาต เช่น ถุงยางอนามัย ถุงมือยางสำหรับศัลยแพทย์ ชุดตรวจเชื้อ HIV คอนแทคเลนส์ จะแสดงเป็นตัวอักษร ผ. หรือ น. แล้วตามด้วยตัวเลข
ผ. หมายถึง การผลิต ผลิตภัณฑ์
น. หมายถึง การนำเข้า ผลิตภัณฑ์
เลขสามตัวแรก หมายถึง เลขที่ใบอนุญาต
เลขสี่ตัวหลัง หมายถึง ปี พ.ศ. ที่ได้รับอนุญาต
ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องมีเครื่องหมาย อย.
1. ยา จะไม่มีเครื่องหมาย อย.บนฉลาก แต่จะต้องแสดงเลขทะเบียนตำรับยา เช่น 1A 20/64 หมายถึง ยาแผนปัจจุบันสำหรับใช้กับมนุษย์ ผลิตภายในประเทศไทย มีตัวยาออกฤทธิ์เพียงตัวเดียว ลำดับทะเบียนเลขที่ 20 ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี พ.ศ. 2564
Reg no. หมายถึง Registered Number หรือเลขทะเบียน
เลขลำดับที่ 1 : เลขแทนตัวยาที่ออกฤทธิ์ (ใช้ตัวเลข 1 – 2)
- หมายถึง มีตัวยาสำคัญที่ออกฤทธิ์เพียงตัวเดียว
- หมายถึง มีตัวยาสำคัญที่ออกฤทธิ์สองตัวขึ้นไป
เลขลำดับที่ 2 : เลขแทนประเภทของยา (ใช้ตัวอักษร A – N) เช่น A แทนยาแผนปัจจุบันที่ใช้กับมนุษย์ซึ่งผลิตภายในประเทศ , N แทนยาแผนโบราณที่ใช้กับสัตว์ซึ่งนำเข้าหรือสั่งเข้าจากต่างประเทศ
เลขลำดับที่ 3 – 4 : เลขแทนลำดับการขึ้นทะเบียนตำรับยา
เลขลำดับที่ 5 – 6 : ปี พ.ศ.ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน สองหลักสุดท้าย เช่น 64 แทนปี 2564
2. เครื่องสำอาง จะไม่มีเครื่องหมาย อย.บนฉลาก แต่จะต้องแสดงเลขที่ใบรับแจ้งซึ่งประกอบด้วยตัวเลข 10 หลัก
เลขลำดับที่ 1 – 2 : เลขจังหวัดที่ตั้งของสถานที่รับแจ้ง
เลขลำดับที่ 3 : สถานะสินค้า (ใช้ตัวเลข 1 – 2 แทนสถานะ)
หมายเลข 1 หมายถึงสินค้าที่ผลิต
หมายเลข 2 หมายถึงสินค้าที่นำเข้า
เลขลำดับที่ 4 – 5 : เลขท้ายของปี พ.ศ.ที่อนุญาต เช่น ตัวเลข 64 แทน พ.ศ.2564
เลขลำดับที่ 6 – 10 : เลขลำดับของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการอนุญาต
3. เครื่องมือแพทย์ที่ต้องแจ้งรายการละเอียดไม่มีเครื่องหมาย อย. แต่ต้องมีต้องมีเลขที่ใบรับแจ้ง(แบบเดียวกับเครื่องสำอาง) ได้แก่ เครื่องที่ใช้เพื่อกายภาพบำบัด เครื่องตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกาย เต้านมเทียมซิลิโคน
นอกจากนี้ หากผลิตภัณฑ์ใดจะมีการนำสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ไปทำการโฆษณา จะต้องมีการขออนุญาตจากโฆษณาผลิตภัณฑ์จากทาง อย. เช่นกัน เพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง อาจส่งผลเสียต่อผู้บริโภคได้ ซึ่งจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป เช่น ฆอ.(โฆษณาอาหาร) ฆพ. (โฆษณาเครื่องมือแพทย์)
วิธีการตรวจ เช็กเลข อย.ดูตรงนี้!
หากต้องการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ที่จะซื้อมีเครื่องหมาย อย./เลขที่จดแจ้งหรือไม่ หรืออาจจะต้องการดูว่าเครื่องหมาย อย.ที่ปรากฏบนผลิตภัณฑ์ เป็นเลขจริงหรือเปล่า ข้อมูลตรงกับที่ผู้ประกอบการแจ้งไว้ไหม สามารถตรวจสอบได้ตามขั้นตอนเหล่านี้เลยค่ะ
1. เข้าเว็บไซต์ “ตรวจสอบการอนุญาต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข”
2. กรอกเลขรหัสในเครื่องหมาย อย. เลขที่ใบจดแจ้ง เลขทะเบียนตำรับยา (มีหรือไม่มีขีดก็ได้) หรือชื่อของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการตรวจสอบ ลงในช่องค้นหาจากนั้นกดปุ่มค้นหา ตัวอย่างเช่น กรอกชื่อผลิตภัณฑ์สเปรย์ทำความสะอาดมือ “COOL CLEAN SANIC SPRAY” ลงไป
3. หากผลิตภัณฑ์ที่ค้นหามีการได้รับอนุญาตจาก อย.อย่างถูกต้อง เว็บไซต์จะแสดงผลตามรูป ได้แก่ ประเภทผลิตภัณฑ์ ใบสำคัญ (เลข อย.) ชื่อผลิตภัณฑ์ไทย – อังกฤษ ชื่อผู้รับอนุญาต Newcode (เลขอ้างอิงใบรับแจ้งการนำเข้าผลิตภัณฑ์) และสถานะของผลิตภัณฑ์
หากลองค้นหาเลข อย. แล้วไม่ปรากฏข้อมูล อาจหมายถึงผลิตภัณฑ์ตัวนั้นมีเลข อย.ปลอม หรือค้นหาแล้วปรากฏข้อมูล ให้ตรวจสอบว่าข้อมูลเหล่านั้นตรงกับสินค้าที่เราค้นหาหรือไม่ ถ้าข้อมูลไม่ตรงหรือปรากฏเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่เราค้นหา อาจหมายถึงว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นสวมเลข อย.ปลอม
ซึ่งหากพบความไม่ถูกต้องของข้อมูลผลิตภัณฑ์ ให้ติดต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข สายด่วน 1556 หรือผู้ที่อยู่ในต่างจังหวัด สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ของตนเองได้เลย
ข้อมูลจาก : FDA-สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)